ชีวิตนี้คนเราจะมี Coming of Age ได้อีกกี่ครั้ง? อาจไม่สำคัญเท่าจะทำทุกวันอย่างไรให้เติบโตอย่างมีความหมาย
ชีวิตนี้คนเราจะมี Coming of Age ได้อีกกี่ครั้ง? อาจไม่สำคัญเท่าจะทำทุกวันอย่างไรให้เติบโตอย่างมีความหมาย
รักครั้งแรก
เป็นแม่คน
ปวดหลังง่าย
ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
กินของที่เคยไม่ชอบตอนเด็กแต่รู้สึกอร่อย
ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวทั้งที่ยังไม่พร้อม
มีปัญหาที่รู้ว่าแก้ยาก แต่หนีไม่ได้และต้องหาทางออกโดยเร็ว
การคิดถึงคนอื่นให้มากกว่านึกถึงตัวเอง
การเริ่มขบคิดทบทวนความหมายของการมีชีวิตอยู่
เหตุการณ์ Coming of Age สำหรับคุณคืออะไร?
เชื่อเหลือเกินว่าท่านผู้อ่านที่ผ่านมาพบเห็นบรรทัดนี้ เราทุกคนล้วนมีเส้นทางในการเติบโตแต่ละช่วงขวบวัย ซึ่ง ‘การเติบโต’ ที่ว่านั้น เรามีทั้งส่วนที่คล้ายกัน เหมือนกัน หรือต่างกันออกไป เพราะการใช้ชีวิตของมนุษย์ล้วนเป็นอะไรที่มีความปัจเจกอยู่ไม่มากก็น้อย
‘การเปลี่ยนแปลง’ ย่อมเป็นสิ่งที่มาควบคู่กับการเติบโตและคนเราย่อมหวาดกลัวต่อสิ่งนั้น เพราะไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะราบรื่นอย่างที่เคยเป็นไหม และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การเปลี่ยนจากการอยู่ที่เดิมไปยังจุดที่สูงขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเรียกร้องการเติบโตของเราได้เป็นอย่างดี
แม้ในบางครั้งเราอาจจะยังไม่พร้อม แต่สภาวะตอนนั้นก็อาจบอกให้เรา ‘ต้องพร้อม’ แม้ว่าลึกๆ แล้วเราจะอยากวิ่งหนีการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นแค่ไหนก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงอยู่คู่กับเราตลอดเวลาซึ่งในหลายครั้งการเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโตย่อมมีความเจ็บปวด เจ็บจากความไม่รู้ เจ็บจากความเสียดาย บาดแผลในขวบวัยแห่งการเติบโตนั้นย่อมสร้างเราให้เป็น ‘เรา’ จวบจนปัจจุบัน
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอาจเรียกภาพรวมได้ว่ามันคือ ‘Coming of Age’ ที่เป็นคำเรียกที่ใช้กล่าวถึงสภาวะที่เด็กกำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งในแต่ละวัฒนธรรมหรือองค์ความรู้นั้นย่อมมีการนิยามที่แตกต่างกันออกไป ทั้งทางร่างกาย ความคิด หรือจิตใจ อย่างในคริสตศาสนาก็มีวัฒนธรรมการรับศีลกำลังให้กับเด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไปเพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว
หรือในทางมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) เองก็ไม่ต่างกัน ตามแนวคิดนี้ที่แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามการเรียนรู้ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ระยะแรก (0-7 ปี) ที่นับเป็นช่วงเวลาแห่งเจตจำนง (willing) ในช่วง 0-7 ปีซึ่งจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่มุ่งหวังและเป็นไปตามธรรมชาติ, ระยะสองที่เป็นช่วงเวลาแห่งความรู้สึก (feeling) ในช่วง 7-14 ปี และช่วงที่สามที่เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างระบบคิด (thinking) ที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบและมีตรรกะตั้งแต่อายุ 14-21 ปี
ซึ่งจากสองตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะพอเห็นได้ว่านิยามของการเติบโตอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะและการให้ความหมาย แต่จุดที่มีความคล้ายระหว่างสองสิ่งคือ เมื่ออายุครบ 7 ปีบริบูรณ์คือการก้าวเข้าสู่ Coming of Age ในรอบแรก ซึ่งหากเทียบกับการเข้าสถานศึกษาก็อาจตรงกับการเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของใครหลายคนเช่นกัน
ซึ่งนั่นอาจนับว่าเป็นการขยับขยายจากการสร้างและเรียนรู้ตัวตนของตัวเอง มาปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น
และนั่นไม่ต่างอะไรจากการใช้ชีวิต
ภาวะนี้ของมนุษย์แต่ละคนในฐานะปัจเจกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอาจมีความแตกต่างหลากหลายกันไป กับบางคนอาจมองว่ามาจากการตกหลุมรักครั้งแรก บางคนอาจมองว่ามาจากการไปโรงเรียนครั้งแรก บางคนอาจมองว่ามาจากการบรรลุนิติภาวะและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หรืออาจเป็นการทำอะไรสักอย่างเหล่านั้นและที่สำคัญคือเราได้เรียนรู้จากมัน
เพราะชีวิตย่อมประกอบไปด้วยตัวตนและความสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญ
และสิ่งที่อาจต้องคิดไปมากกว่าคือการที่เราจะเรียนรู้เพื่อเติบโตกับมันอย่างไร
และไม่ว่าสุดท้ายนี้เราจะนิยาม ‘Coming of Age’ เอาไว้แบบไหน
มันอาจไม่สำคัญเท่าเราจะเรียนรู้กับบาดแผลในขวบวัยแห่งการเติบโตได้อย่างไรเสียมากกว่า
ที่มา :
- https://en.m.wikipedia.org/wiki/Coming_of_age
- dictionary/english/coming-of-age#
- https://www.joincake.com/blog/coming-of-age/
- https://www.the101.world/life-editors-note-coming-of-age-issue/
- https://thepotential.org/knowledge/willing-feeling-thinking/
Writer
ภาพตะวัน
แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว
illustrator
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด