จากปรากฎการณ์ ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ ถึง ‘ส้มรักพ่อ’: ส่องการเมืองแบบ ‘Celebrity Politics’ เมื่อเสียงของนักการเมืองดังกว่านโยบาย
จากปรากฎการณ์ ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ ถึง ‘ส้มรักพ่อ’: ส่องการเมืองแบบ ‘Celebrity Politics’ เมื่อเสียงของนักการเมืองดังกว่านโยบาย
48 ล้าน คือตัวเลขของจำนวน engagement ที่มาจากคอนเทนต์หรือข้อความบนโลกออนไลน์ที่พูดถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 ตั้งแต่ระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตัวเลขที่สูงหลายสิบล้านนี่ยิ่งสะท้อนปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงหาเสียง ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงวันที่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการและเริ่มต้นทำงานแล้ว
แม้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะจบลง แต่ในระยะแรก ปรากฏการณ์ฟีเวอร์นี้ ‘ไม่แผ่ว’ ลงแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ชัชชาติดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยซ้ำจากการไลฟ์ให้ประชาชนได้เห็นการทำงานในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด จนเกิดเป็นการติดตามว่าวันนี้ผู้ว่าฯ จะไปที่ไหน จะทำอะไร จะพูดอะไร และกลายเป็นความตื่นเต้นที่คอยลุ้นว่า วันนี้ผู้ว่าฯมาจะมาแถวเขตที่ตัวเองอาศัยอยู่หรือไม่
ตลอดการหาเสียงครั้งนั้น ชัชชาติและทีมงานได้นำเสนอนโยบายรวมทั้งหมด 216 เรื่อง ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องความปลอดภัย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข และเรื่องอื่น ๆ อีกที่ครอบคลุมทุกด้านในการใช้ชีวิตของคนเมือง โดยนโยยายเน้นมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นในทุกระดับ
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่คนจำได้มากกว่านโยบายก็คือคุณสมบัติและบุคลิกของชัชชาติมากกว่านั่นเอง
ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่ค่อนข้างแตกต่างจากนักการเมืองคนอื่นตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วงปี 2555-2557 จนเกิดเป็นมีมที่แพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ตั้งแต่ตอนนั้น ประกอบการแบ็กกราวนด์ทางด้านการศึกษาที่จบจากสถาบันระดับท็อปทั้งในไทยและในสหรัฐฯ จึงทำให้สร้างความเชื่อมั่นได้ไม่ยาก บวกกับวิธีการหาเสียงที่ทำให้คนสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรและเข้าถึงได้ จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ชัชชาติฟีเวอร์นั่นเอง
‘สี’ สันของการเมืองไทย พ.ศ. นี้
มาถึงปี 2566 การเมืองไทยมีสีสันขึ้นอีกครั้งหลังจากมีการประกาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป
หากมองอย่างเป็นกลาง สีสันที่ดูจะเด่นที่สุดในการหาเสียงเลือกครั้งนี้ก็คือ สีส้ม ซึ่งเป็นสีที่แทนพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่นำไปสู่ปรากฎการณ์ ‘ส้มรักพ่อ’ อันเนื่องมาจากความนิยมในตัวเอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นั่นเอง
ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ซึ่งมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค ถึงแม้ว่าธนาธรจะเป็นที่จับตาของสื่อไม่น้อยเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่มีพิธาเป็นหัวเรือใหญ่แล้ว สปอตไลท์ได้ฉายไปที่ตัวหัวหน้าพรรค ซึ่งปัจจุบันเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย มากกว่าที่ตัวพรรค โดยเห็นได้จากการที่มีการพูดถึงแบ็กกราวนด์ของพิธาอย่างลงลึก โดยเฉพาะประวัติการศึกษาและเรื่องส่วนตัวอย่างเรื่องครอบครัว จนบางครั้งแทบจะเหมือนข่าวบันเทิงมากกว่าข่าวการเมือง
แม้แต่เด็กวัยประถมที่ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนไม่น้อยก็รู้จักชื่อของ ‘พิธา’ ในฐานะนักการเมืองที่มีคนชื่นชอบเป็นจำนวนมาก ผ่านการติดตามจากโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง โดยเฉพาะ TikTok ที่ก่อนเลือกตั้งนั้นเต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่เจ้าของแอคเคานท์ประกาศตัวชัดเจนว่าอยากให้ใครเป็นนายกฯ คนใหม่ของประเทศ โดยรูปแบบหนึ่งของคอนเทนต์ที่เห็นได้ชัดว่าได้รับความนิยมมากก็คือ การแต่งหน้าก่อนออกจากบ้านที่เหมือนจะสุ่มไปเรื่อย ๆ ว่า ถ้าแต่งหน้าเสร็จแล้วขึ้นเป็นรูปใคร ก็จะได้คนนั้นเป็นนายกฯ คนใหม่ ซึ่งจบลงด้วยพิธาแทบทุกคลิป
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ถ้าเปรียบก้าวไกลเป็นคณะละครคณะหนึ่ง ในพรรคยังมีนักแสดงที่น่าสนใจอีกหลายต่อหลายคน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายที่ควรนำมาวิเคราะห์กันอีกมาก การโฟกัสที่ตัวผู้นำพรรคเป็นหลักจึงส่งผลให้การวิเคราะห์นโยบายที่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เพราะเป็นปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจ กลับถูกนำมาพูดถึงในช่วงหลังการเลือกตั้งมากกว่า โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญมาก และการวิเคราะห์ก็ทำให้เข้าใจนโยบายของพรรคมากขึ้นด้วย
Celebrity Politics การเมืองที่สปอตไลท์ส่องมาที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบาย
ปรากฎการณ์ ‘ส้มรักพ่อ’ หรือ ‘พิธาอิสซึ่ม’ จึงนับเป็น celebrity politics ที่ตัวพิธาเองก็กลายเป็น celebrity politician ซึ่งวางตัวเองให้เข้าถึงง่าย ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็น ก้าวไกลใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นอนาคตใหม่ แต่ครั้งนี้ต้องยอมรับว่า พิธาตอบโจทย์องค์ประกอบของความเป็น celebrity politician ได้ ‘ครบ’ กว่า หากมองทั้งหน้าตา บุคลิก การศึกษา และความมี ‘storytelling’ ในหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ซึ่งล้วนประกอบกันเป็นวัตถุในการทำให้นักการเมืองคนหนึ่งกลายเป็นที่สนใจและชื่นชมได้ไม่ยาก
ลักษณะของนักการเมืองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ตัวบุคคลมาก่อนนโยบายของพรรคนี้ ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ฝั่งยุโรปอย่างในฝรั่งเศส เมื่อปี 2560 เอ็มมานูเอล มาครง เอง ก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานทางการเมืองมาก่อน แต่ก็สามารถกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ด้วยวัยเพียง 39 ปี ณ ตอนนั้น
สำนักข่าว BBC ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับเหตุผล 5 ข้อที่ทำให้มาครงได้รับชัยชนะ ซึ่งในทั้งหมด 5 ข้อนั้น มีเพียงข้อเดียวที่วิเคราะห์ถึงการทำงานเพื่อวางนโยบายของมาครอง ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า โดยเฉพาะข้อที่บอกว่า มาครงเป็นคนฉลาด และการสื่อสารของเขาก็เป็นการสื่อสารในเชิงบวกที่ทำให้คนเห็นว่า เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่พูดว่า จะทำอะไรให้กับฝรั่งเศสบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้คนในประเทศมีโอกาสมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแส ‘Macron Miracle’ ตามมาหลังจากการเลือกตั้ง
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่าง โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน ที่ได้รับสมญานามว่า ‘โอบามาแห่งเมืองอิเหนา’ ที่ Financial Times วิเคราะห์ว่า ชัยชนะส่วนหนึ่งมาจากบุคลิกภาพที่ดูติดดิน เป็นกันเองของตัววิโดโดเองและแนวทางในการหาเสียงที่ทำให้เกิด ‘ปรากฏการณ์โจกาวี’ และยังมีสไตล์ในการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่สมัยยังเป็นผู้ว่าการจาการ์ตา และน่าจะเป็นนักการเมืองคนแรกๆ ของอินโดนีเซียที่รู้จักการใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวในการสื่อสารเพื่อภาพลักษณ์ด้วยตั้งแต่เกือบทศวรรษก่อน
ข้อดีอย่างหนึ่งของการเมืองที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำประเทศนั้น คือ คนที่เลือกลงคะแนนเสียงให้ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า ตัวเอง ‘รู้จัก’ และ ‘ยอมรับ’ นักการเมืองคนนี้ในฐานะผู้นำประเทศจริง ๆ เพราะอย่างในเมืองไทย แม้แต่คนที่ไม่ได้สนับสนุนพิธาก็ยากที่จะปฏิเสธว่า ได้รับรู้เรื่องราวส่วนตัวของเขาไม่น้อยไปกว่าคนหรือพรรคที่ตัวเองลงคะแนนเลือก
แต่ความน่ากังวลของการเมืองแบบ celebrity politics อยู่ตรงที่เมื่อสปอตไลท์จับอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ สิ่งที่อาจถูกมองข้ามคือเรื่องของนโยบายที่ควรนำมาวิเคราะห์ถึงความเป็นได้ ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ควรเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงโดยละเอียดตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจริง ๆ แล้ว การอธิบายเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้โดยละเอียดก่อนการเลือกตั้งอาจเป็นผลดีต่อพรรคด้วยซ้ำ เพราะเสียงที่ตัดสินใจลงคะแนนมาจากความเข้าใจนโยบายจริง ๆ มากกว่าการฝากความหวังไว้ที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
การดีเบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นพื้นที่หนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายได้ก็จริง แต่เมื่อกลยุทธ์การเมืองเน้นให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลเป็นอันดับแรกแล้ว แน่นอนว่า ผลลัพธ์คือการประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่มาพร้อมความหวังของคนที่ลงคะแนน แต่ในทางกลับกัน นโยบายที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ‘ความหวัง’ กลายเป็น ‘ความจริง’ ขึ้นมาได้ อาจโดนมองข้ามโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่นำสู่การเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/world-europe-39791036
https://www.ft.com/content/ae5bd168-ab7b-11e3-8cae-00144feab7de
Writer
พนิชา อิ่มสมบูรณ์
นักเขียนที่ชอบบอกทุกคนอย่างภูมิใจว่าเคยเป็นครูอนุบาลและยังชอบเล่นกับเด็กๆ อยู่ แต่ชอบคุยกับคนทุกวัยผ่านงานสัมภาษณ์ ส่วนชีวิตอีกด้านเป็นโอตาคุกีฬาโอลิมปิกและการ์ตูนญี่ปุ่น
illustrator
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์
ชอบกินลาเต้เย็น