“การตั้งคำถามไม่ได้ผิด มันคือสิทธิของนักเรียน” รู้เท่าทันการละเมิดสิทธิผ่านคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน

“การตั้งคำถามไม่ได้ผิด มันคือสิทธิของนักเรียน” รู้เท่าทันการละเมิดสิทธิผ่านคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน

  • แต่งตัวให้ถูกระเบียบ ตัดผมทรงนักเรียน ห้ามแต่งหน้า คือสิ่งที่นักเรียนเจอและตั้งคำถามว่าครูไปทำไม แต่ไม่กล้าพูดออกไปเพราะกลัวถูกลงโทษ
  • เด็กที่ดีต้องเรียบร้อย เชื่อฟัง ไม่เถียง และเคารพ แล้วถ้านักเรียนไม่เป็นแบบนั้นจะถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ดีหรือเปล่า
  • ถ้ายังลังเลใจว่าสิ่งที่ทำลงไปเพื่อย้ำถึงสิทธิของตัวเองนั้นถูกต้องหรือเปล่า ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ จะมาช่วยยืนยันอีกเสียงว่า อย่างน้อยๆ การตั้งคำถาม ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนทำได้ โดยเฉพาะนักเรียน

ทุกคนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหม?

แต่งตัวให้ถูกระเบียบ

โดนตัดผมจนไม่เป็นทรง

โดนยึดโทรศัพท์ 

ห้ามแต่งหน้า

ต้องถือกระเป๋าของโรงเรียนเท่านั้น 

ในฐานะนักเรียนก็ทำได้แค่ตั้งคำถามในใจว่า ครูทำไปทำไม แต่ไม่กล้าพูดออกไปเพราะอาจจะถูกลงโทษ หักคะแนนความประพฤติ และโดนเพ่งเล็งจากครูเป็นพิเศษ

เหตุผลที่เราไม่กล้าแตกต่าง ไม่กล้าตั้งคำถามเพราะ ‘กลัว’ จะถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ดี มีปัญหา จนไม่กล้าที่จะแสดงความเป็นตัวเองในรั้วโรงเรียน เพราะเด็กดี คือ เด็กที่เรียบร้อย เชื่อฟัง ไม่เถียง และเคารพ ยอมทำตามสิ่งที่โรงเรียนบอก ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่นักเรียนต้องเจอคือเรื่องปกติ 

เรามักได้ยินว่าการศึกษาอยากให้เด็กตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนกลับไม่เคยสอนให้เด็กตั้งคำถามและไม่เคยบอกว่าเด็กสามารถแย้งได้หากโดนละเมิดสิทธิ 

ในทางกลับกัน ถ้าเด็กรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรก็จะนำมาสู่การเคารพในสิทธิที่ตนมีและไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น

นั่นคือทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติเมื่อเด็กๆ ตั้งคำถาม โรงเรียนมักใช้คำตอบชุดเดิมว่า “มันเป็นกฎของโรงเรียน” เพื่อปิดช่องทางอธิบาย ทำให้เด็กหลายคนไม่กล้าตั้งคำถาม บ้างก็คล้อยตามไปกับกฎระเบียบ จะมีสักกี่คนที่ลุกยืนหยัดสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง 

ถ้ายังลังเลใจว่าสิ่งที่ทำลงไปเพื่อย้ำถึงสิทธิของตัวเองนั้นถูกต้องหรือเปล่า ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ จะมาช่วยยืนยันอีกเสียงว่า อย่างน้อยๆ การตั้งคำถาม ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนทำได้ โดยเฉพาะนักเรียน

และต่อจากนี้คือการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบการศึกษาไทยผ่านสิทธิที่เราสามารถโต้แย้งหรือเอาตัวรอดได้ด้วยข้อเท็จจริงทางกฎหมายเพื่อไม่ให้ใครมาละเมิดหรือคุกคามเราได้

การเอาตัวรอดครั้งที่ 1 : เงียบไม่ได้แปลว่ายอม แต่กลัว

กางเกงและกระโปรงต้องคลุมเข่า นักเรียนหญิงผมสั้นเท่าติ่งหู นักเรียนชายต้องตัดผมทรงนักเรียน ห้ามนักเรียนแต่งหน้า อย่าใส่เครื่องประดับทุกชนิด

คือมาตรฐานการตรวจระเบียบนักเรียนที่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยยืนเข้าแถว รอคุณครูตรวจร่างกายเพื่อพิสูจน์ว่า ฉันคือนักเรียนที่ถูกระเบียบเป๊ะตามกรอบที่โรงเรียนตั้งไว้

ถ้าใครไม่ทำตามกฎที่วางไว้จะถูกหักคะแนนและถูกลงโทษ นักเรียนชายอาจจะถูกไถผมจนไม่เป็นทรง ส่วนนักเรียนหญิงถูกตัดปลายผมแบบไม่ทันได้เตรียมใจ โดนลบและยึดเครื่องสำอาง และไม่คืน

เด็กหลายคนจึงรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อึดอัดกับกรอบที่สังคมหรือโรงเรียนวางไว้ บางคนต้องอยู่กับความระแวงที่ว่า “วันนี้ฉันจะโดนครูด่าว่าผิดระเบียบไหม”

เมื่อความเป็นจริงสวนทางกับกฎกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่า นักเรียนหญิงมีสิทธิไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย แต่โรงเรียนกลับอ้างว่า นี่คือกฎระเบียบที่นักเรียนต้องปฏิบัติตาม ทำให้วิธีการเอาตัวรอดของนักเรียนคือ การยอมอ่อนข้อต่อระบบอำนาจนิยม ยอมให้ครูตัดผม แม้จะไม่พอใจ ก็ได้แต่เก็บความรู้สึกเอาไว้ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามหรือโต้แย้ง เพราะมันคือ ‘กฎ’ และไม่อยากถูกทำโทษ

แต่สิ่งที่เด็กนักเรียนตอนนี้กำลังเจอ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ และผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 ที่ระบุว่าการไถผม กล้อนผม ตัดผมเป็นความผิดที่เป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ

เพราะร่างกายเป็นของเรา เรามีสิทธิในร่างกายของตัวเอง เรามีสิทธิที่จะไม่ยอมและไม่ถูกตัดสินเพราะทำผิดกฎหรือแตกต่างจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ การแต่งกาย หรือทรงผม เราสามารถเลือกในสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบเองได้

การเอาตัวรอดครั้งที่ 2 : ไม่ได้เถียงแค่อยากอธิบาย

โบว์ขาว โปสเตอร์เรียกร้องประชาธิปไตย จัดกิจกรรมแสดงจุดยืน คือ ตัวอย่างของการบอกว่า เด็กมีสิทธิพูด แต่สุดท้ายกลับถูกครูเรียกพบ

เด็กต้องฟังครู เถียงไม่ได้ ยังเป็นความเชื่อที่ถูกต้องของครูหลายคน ทั้งๆ ที่การแสดงออกของนักเรียนอยู่บนพื้นฐานการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและกติกาสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 บอกว่า ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นหรือแสดงออก

ทั้งการแสดงออกด้วยคำพูดหรือท่าทางและเราสามารถวิจารณ์เกี่ยวกับโรงเรียนได้ หรือเรียกร้องสิทธิในโรงเรียนได้ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 ระบุว่า การชุมนุมภายในสถานศึกษาสามารถทำได้โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุม เพราะ “เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตราบใดที่การแสดงออกนั้นไม่ไปเหยียดหยามด้อยค่าความเป็นมนุษย์ละเมิดสิทธิของผู้อื่นและอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน”

การเอาตัวรอดครั้งที่ 3 : สิ่งของเรา ครูห้ามยึด

นักเรียนห้ามใส่เสื้อคลุมแขนยาวขณะเข้าแถวเคารพธงชาติแต่ครูยืนกางร่มอยู่ใต้ต้นไม้

นักเรียนห้ามพกโทรศัพท์ ห้ามแต่งหน้า ใครมีโทรศัพท์หรือเครื่องสำอางครูจะยึด

บางครั้งเป็นแค่คำขู่ บางครั้งโดนยึด หลายครั้งก็ไม่ได้คืน

“ครูยึดทำไม” คำถามนี้ดังในใจแต่ไม่กล้าพูดออกไป

นี่คือของของเรา มันเป็นสิทธิ์ของเรา เราแย้งได้ ครูไม่มีสิทธิ์ยึด ยกเว้นสิ่งของอันตราย – คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนบอกเราอย่างนั้น

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 37 อธิบายเพิ่มเติมว่า ครูยึดสิ่งของอันตรายเพื่อรักษาความปลอดภัยได้ แต่จำเป็นต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการคืน หากครูปฏิเสธว่าไม่ได้ยึดหรือไม่ให้คืนจะถือเป็นการยักยอกทรัพย์และมันยังผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ยึดหรือริบสิ่งของแล้วไม่คืนและมาตรา 309  บังคับ ข่มขู่ให้นักเรียนทำในสิ่งที่ไม่ยินยอม

การเอาตัวรอดครั้งที่ 4 : ตักเตือนได้ แต่ห้ามทำร้ายร่างกาย

โดนดึงหูในห้องเรียนเพราะตอบคำถามไม่ได้

โดนปากกาไวท์บอร์ดเขวี้ยงใส่เพราะคุยกันเสียงดัง

โดนตีจนมีรอยช้ำเพราะถูกหาว่าไม่ตั้งใจเรียนและไม่ฟังสิ่งที่ครูสอน

คือ 3 วิธีลงโทษนักเรียนที่ครูอาจจะเผลอทำหรือตั้งใจเมื่อคิดว่าสิ่งที่นักเรียนทำ ‘ผิด’ ทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่ทันได้อธิบายความจริงด้วยซ้ำ

ทำให้โรงเรียนที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยเปลี่ยนเป็นบาดแผลฝังใจที่ไม่เคยลืม

ครูไม่มีสิทธิ์ตีและลงโทษอย่างรุนแรง เนื่องจากผิดพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี พ.ศ. 2546 มาตรา 26 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 19 และ 28 และกฎหมายอาญามาตรา 259 ลงโทษด้วยความรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ บอกแบบนั้น

การลงโทษที่ครูทำได้มีเพียงการกล่าวตักเตือน ตัดคะแนนความประพฤติ ทำทัณฑ์บนและให้เราทำกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น ไม่ใช่การตีหรือทำร้ายร่างกายและจิตใจ

การลุกขึ้นมาตั้งคำถามไม่ผิด มันคือสิทธิของนักเรียน

ด้วยระบบการศึกษาในอดีต ปลูกฝังลงรากลึกให้เราอยู่ในกรอบของเด็กดีอย่างที่ชาติอยากให้เป็น ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ จะหันหน้าไปพึ่งใครก็เป็นไปได้ยาก เพื่อนก็ไม่กล้าที่จะออกมาพูด ครูก็ไม่รับฟัง แม้กระทั่งตัวเราเองก็ยังกลัวว่าจะมีผลกระทบตามมา

แม้ปัจจุบันนักเรียนจำนวนไม่น้อยจะพร้อมใจกันลุกขึ้นมาต่อสู้และไม่ยอมให้กับอำนาจนิยมในโรงเรียนอีกต่อไป พร้อมทั้งศึกษาสิทธิของตนเอง แต่ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะทำให้นักเรียนมั่นใจว่า พวกเขาจะปลอดภัยและวางใจที่จะเป็นตัวเอง

ขณะที่เด็กๆ กำลังส่งเสียงในใจให้ดังขึ้นและเรียนรู้เรื่องสิทธิของตัวเองที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่พ.ร.บ.การศึกษายังคงยึดโยง ‘ความเป็นชาติ’ ไว้ในมาตรา 8 ที่แบ่งการศึกษาตามช่วงวัยในช่วงอนุบาลถึงประถมศึกษา ระบุว่า นักเรียนที่ดีต้องเป็นเด็กดี มีวินัยภูมิใจในชาติ ตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ขณะที่วัยมัธยมศึกษาตอนต้น (12-15 ปี) ระบุว่า  นักเรียนจะต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ยอมรับความหลากหลาย เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย สามารถสื่อสารภาษาไทยได้สมบูรณ์ รู้และเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้

ไม่มีมาตราใดที่พูดถึงการคุ้มครองสิทธิของนักเรียนในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ถ้าเกิดคำว่าเสรีภาพหายไปจากพ.ร.บ.การศึกษาอาจทำให้เด็กหลายคนไม่กล้าคิด ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น โดยลืมไปว่า พวกเขามีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามและเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ไม่ต่างจากที่โรงเรียนกำลังทำกับพวกเขาเช่นกัน

“อย่ายอมเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว หากไม่ได้รับความเป็นธรรม เรามีสิทธิที่จะโต้กลับตามสิทธิที่บทบัญญัติทางกฎหมายให้อำนาจไว้”

หากใครที่สนใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพเพื่อให้เข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนของนักเรียนเพื่อสามารถนำไปอธิบายกับใครก็ตามที่กำลังละเมิดสิทธิเราก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ดังนี้
– กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
– อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)
– รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
– พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
– พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
– ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548
– ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Writer
Avatar photo
สุภาพรรณ ฤทธิยา

หายใจเข้าเพลง k-indie หายใจออกซีรี่ย์ อนิเมะ นิสิตฝึกเขียนเอกวารสารฯ ที่ตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างก่อนเรียนจบ

Writer
Avatar photo
กมลชนก แก้วก่า

นักศึกษาฝึกงาน graphic design ชอบฟังพอดแคสต์ มีความฝันอยากเลี้ยงแมวส้ม

illustrator
Avatar photo
กมลชนก แก้วก่า

นักศึกษาฝึกงาน graphic design ชอบฟังพอดแคสต์ มีความฝันอยากเลี้ยงแมวส้ม

Related Posts

Related Posts