“เทพอยู่ในหลักการ มารอยู่ในรายละเอียด?”ฟังเสียงพ่อ แม่ ครู นักเรียน นักการศึกษาฯ ผู้ควรมีส่วนร่วมแต่กลับไม่มีส่วนร่วมต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

“เทพอยู่ในหลักการ มารอยู่ในรายละเอียด?”ฟังเสียงพ่อ แม่ ครู นักเรียน นักการศึกษาฯ ผู้ควรมีส่วนร่วมแต่กลับไม่มีส่วนร่วมต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

  • ที่ผ่านมาพระราชบัญญัติการศึกษาตั้งต้นจากกระทรวง แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าตั้งต้นจากการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนร่วม
  • เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก แต่เป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคนทุกวัยอย่างเท่าเทียม
  • ฟัง 6 เสียง 6 มุมมองของ พ่อ แม่ ครู นักเรียน นักการศึกษา ผู้มีส่วนร่วมแต่กลับไม่มีส่วนร่วมต่อพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเป็นเรื่องของทุกคน

การศึกษาไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเด็ก แต่การศึกษาเป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคนทุกวัย

“พ.ร.บ.การศึกษาดูเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วใกล้ตัว”

ประโยคเปิดวงสนทนาของบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ ในงานเสวนาเวทีสาธารณะ “ฝ่าวิกฤติการศึกษา ผ่า พ.ร.บ. ทางรอด? ของเด็กไทย” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับเพจคุณพ่อม้าน้ำและคุณแม่หมีกริซลีและเพจครูขอสอน เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นในมุมมองของพ่อแม่ ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักการศึกษาต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่นี้ 

ณัฐธีร์มองว่า หากพ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ประกาศใช้จะส่งผลต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ระบบโรงเรียน และโครงสร้างการศึกษาไทย รวมถึงรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน

คำถามสำคัญ คือ พ.ร.บ.การศึกษาต้องเป็นแบบไหนจึงจะตอบโจทย์ผู้เรียนและสอดคล้องกับการเรียนรู้ของคนทุกวัย

ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การศึกษาตั้งต้นจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะเป็นอย่างไร หากพ.ร.บ.การศึกษาตั้งต้นด้วยการรับฟังเสียงของพ่อแม่ นักเรียน ผู้ขับเคลื่อนพ.ร.บ.การศึกษา และนักการศึกษา ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงหลังประกาศใช้

นี่คือ 6 เสียง 6 มุมมองจากประสบการณ์จริงของพ่อ แม่ ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และนักการศึกษา ที่มีจุดหมายเดียวกันคือ ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้จริงๆ ภายใต้ “พระราชบัญญัติการศึกษา”

ผู้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.การศึกษา: พ.ร.บ.การศึกษาที่อยากเห็น คือ พ.ร.บ.ที่เยาวชนเลือกทางเดินและพัฒนาตัวเองได้

วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหาร โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และผู้ขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ เริ่มต้นการพูดคุยด้วยปัญหาของพระราชบัญญัติการศึกษาพ.ศ. 2542 

เนื่องจากบางเรื่องเขียนไว้ในกฎหมาย แต่ไม่มีกฎหมายลูก ไม่มีรายละเอียด และไม่มีวิธีการ ทำให้ไม่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน อีกทั้งพ.ร.บ.ฉบับเดิมอาจไม่ตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน

“พ.ร.บ.ฉบับเดิมใช้มา 22 ปี แต่วันนี้ทุกอย่างในโลกเปลี่ยนเร็ว เราจึงเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน โดยจะเห็นว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐต้องมาส่งเสริมไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ดูแลกันเองและเปิดกว้าง รูปแบบการสอนที่หลากหลายมีความหลากหลาย”

นอกจากนี้ยังพบว่า มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากระหว่างการบังคับใช้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ปีการศึกษา 2564 มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 5,654 คน และคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน 

วิสิทธิ์หวังว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะเข้ามาอุดรอยรั่วด้วยการเพิ่มการศึกษาตามอัธยาศัย จัดการเรียนรู้ให้คนทุกช่วงวัยและมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รวมถึงยังมีสถาบันพัฒนาหลักสูตรที่จะเข้ามาช่วยออกแบบการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยลดภาระงานครูให้มีเวลาสอนมากขึ้น

เพราะในฐานะผู้ขับเคลื่อนพ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ วิสิทธิ์อยากให้พ.ร.บ.การศึกษาตอบโจทย์ประเทศไทย พัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและแข่งขันกับนานาชาติได้

“เยาวชนเลือกทางเดินและพัฒนาตัวเองได้และแข่งขันกับต่างชาติได้”

แม่: พ่อแม่คือคนสำคัญในระบบการศึกษา

“ประเทศไทยไม่ได้รวมพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา”

คำถามชวนคิดของบี มิรา เวฬุภาค CEO และ Founder mappa เพราะเธอคิดว่า ถ้าในกระบวนการร่างพ.ร.บ.การศึกษาให้โอกาสพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้พ่อแม่เรียนรู้และกล้าแสดงความเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาสำหรับลูกได้

“ควรเปิดโอกาสให้พ่อแม่ลองมาฟังว่าอนาคตลูกเราเป็นอย่างไร อนาคตของเพื่อนลูกเราจะเป็นแบบไหน เราควรจะมีส่วนที่ได้กำหนด นักเรียนมีโอกาสที่จะได้พูดถึง คุณครูมีโอกาสพูด อยากให้มองว่าการศึกษามันไม่ใช่เรื่องการสร้างกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้คนในระบบการศึกษา แต่การศึกษาคือการสร้างคนทุกคนที่มีส่วนร่วมอยู่ในเรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด”

นอกจากนี้ แม่บีมองว่า ถ้าอยากให้พ่อแม่เข้าใจไม่ใช่แค่การนั่งบอก แต่ต้องพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

“พ่อแม่ควรจะมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นใดๆ อยู่ในโครงสร้างของการศึกษาสักที เพราะจริงๆ เราเป็นคนสำคัญ แต่กระบวนการสร้างความเข้าใจไม่ใช่การนั่งบอก กระทรวงฯ ไม่เคยบอกว่ากำลังทำอะไร อยู่ขั้นตอนไหน แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้นเราต้องมีการรับฟังความเห็นผ่านเวทีต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พ่อแม่เข้าใจมากขึ้น”

ยกตัวอย่างเช่น ผลสำรวจเป้าหมายการศึกษาของพ่อแม่ที่ยังหวังว่า ลูกไปโรงเรียนแล้วจะได้ความรู้ (Knowledge) ขณะที่เด็กๆ คิดว่าไปโรงเรียนแล้วจะได้ทักษะ (Skill) 

หากมองในฐานะนักการศึกษา แม่บีคิดว่าสมรรถนะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทั้ง  K – Knowledge, S – Skill และ A – Attitude 

แต่เรื่องนี้พ่อแม่ไม่เข้าใจ จึงต้องมีเวทีคุยกับพ่อแม่ว่าทั้งสามอย่างนี้จะสร้างสมรรถนะอย่างไร โดยไม่ได้บอกว่าสิ่งไหนดีกว่า

“พ่อแม่ต้องเข้าใจ ตีความ พูดคุยว่า KSA ไม่ได้มีอะไรดีกว่าอะไร เมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา พ่อแม่จะให้ความเห็นได้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นเขาจะให้ความเห็นจากความรู้เดิม คือเราไม่เคยให้ความรู้ใหม่กับพ่อแม่เลย แต่เราคาดหวังสิ่งใหม่จากพ่อแม่ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง”

ครู: หลักประกันของครูในพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่คืออะไร

ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนกลุ่มครูขอสอน เล่าว่า อาชีพครูถูกบรรจุอยู่ในระบบราชการที่ไม่ได้ส่งเสริมการตั้งคำถาม

เมื่อครูไม่ตั้งคำถามและถูกกดทับด้วยระบบจนยอมรับว่า “เป็นเรื่องปกติ” การสอนให้เด็กตั้งคำถามจึงไม่เกิดขึ้นในห้องเรียน

“การศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องห้องเรียน แต่เป็นองค์รวมทั้งหมดของสังคมในการหล่อหลอมความคิด ลองสังเกตว่าเวลาเจอปัญหาเรายอมรับหรือตั้งคำถาม ผมคิดว่าครูเองก็ถูกระบบและวัฒนธรรมกดทับจนไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วส่งผลไปถึงห้องเรียนว่า ครูก็จะไม่ได้ชวนนักเรียนวิพากษ์หรือตั้งคำถาม”

นอกจากครูจะไม่ชวนเด็กตั้งคำถามแล้ว สังคมยังตั้งคำถามกับบทบาทครูว่า “ทำไมไม่มีประสิทธิภาพ”

คำตอบจากครูทิว คือ ครูไม่ได้มีหน้าที่แค่สอน แต่ถูกดึงเวลาสอนไปทำงานอื่น ทั้งงานเอกสารและงานสนับสนุนการสอน

ครูจึงไม่ได้เป็นแค่ครู แต่ครูเป็นทุกอย่าง 

“ครูทำทุกอย่าง ทั้งทำอาหารกลางวันให้เด็ก รับเหมา บางครั้งต้องไปเป็นยาม รวมถึงยังถูกผลิตซ้ำว่าครูต้องเป็นผู้เสียสละ แต่มันต้องเสียสละเบอร์ไหน ครูก็อยากสอนเด็ก อยากดูแลเด็กรายบุคคล แต่มันไม่มีทางเป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างระบบเดิมนี้”

แต่จุดสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ระบุไว้ในมาตรา 14 (11) คือ การลดภาระครูและไม่ดึงครูออกจากห้องเรียน

ครูทิวจึงตั้งคำถามว่า หลักประกันของครูคืออะไรในพ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ที่จะทำให้พวกเขาเชื่อได้ว่า พวกเขาจะเป็นครูสอนนักเรียน โดยไม่มีหน้าที่อื่นมาเจือปน

“กระทรวงศึกษาฯ มีหลักประกันอะไรบ้างที่ช่วยให้ครูสามารถทำหน้าที่สอนและพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

นักเรียน: เด็กอยู่ตรงไหนของพ.ร.บ.การศึกษา

“ความรักชาติ” คือ สิ่งที่ถูกระบุในสมรรถนะของเด็กแต่ละช่วงวัยในมาตรา 8 ของพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ระบุว่า

“ในการพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา 7 (บ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่ดี ก่อให้เกิดเป็นสมรรถนะที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างบูรณาการ) ต้องดำเนินการให้บรรลุตามช่วงวัย…”

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงวัยที่สอง (1-3 ปี) ฝึกฝนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและเริ่มซึมซับวัฒนธรรมไทยพื้นฐาน ช่วงวัยที่สาม (3-6 ปี) รับผิดชอบตัวเอง ช่วยเหลือพ่อแม่และผู้อื่นตามกำลังความสามารถ เข้าใจการนับจำนวน และอักษรภาษาไทย รู้จักสังคมไทย วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นไทย และช่วงวัยที่สี่ (6-12 ปี) รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

แต่สิ่งที่ธัญชนก คชพัชรินทร์ สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว มองว่า สำคัญกว่าความรักชาติ คือ การสร้างความเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น เรียนรู้ความเป็นพลเมือง และเข้าใจสิทธิมนุษยชน และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

แต่ปัญหาของพ.ร.บ.ฉบับนี้ในสายตาของตัวแทนนักเรียน คือ ไม่มีมาตราใดพูดถึงการคุ้มครองสิทธินักเรียนในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

“อยากรู้ว่าพ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้จะมีกลใกใดที่เข้ามาสอดส่อง รองรับ และคุ้มครองสิทธินักเรียน เพราะสิทธิของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอยากได้เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแตกต่าง แต่เรายังไม่มีสิทธิในร่างกายตัวเองแล้ว เด็กคนนั้นจะกล้าสร้างสรรค์หรือกล้าคิดได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนยังมีข้อจำกัดเต็มไปหมด”

นักการศึกษา:  ความท้าทายของพ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ เขียนแล้วต้องเกิดขึ้นจริง

พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้พูดแง่การสั่ง สั่งว่าเด็กอายุเท่านี้จะต้องเป็นแบบนี้ ต้องมีคุณสมบัติแบบนี้ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขียนกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิเด็ก

ความเห็นของณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ต่อพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ว่า หน้าที่ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การสนับสนุนเด็กทุกคนอย่างเหมาะสมและเสมอภาค 

แต่ตอนนี้ผู้ทำร่างพ.ร.บ.กำลังมองถึงผลลัพธ์ (output) ว่าเด็กควรเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ควรมีคือ การให้ข้อมูล (input) และ การดำเนินการ (process)  

“คนบอกว่า ‘เทพอยู่ในหลักการ มารอยู่ในรายละเอียด’ ถ้าหลักการดี แต่รายละเอียดไม่กำหนดไว้ หรือเขียนไว้แต่ไม่เกิดขึ้นจริง กฎหมายลูกไม่คลอดตามมา ไม่มีแนวทางสนับสนุนก็จะเป็นความท้าทายของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ต่างจากพรบ.ฉบับพ.ศ. 2542”

“ยกตัวอย่างเช่น คุณครูต้องสร้างการคิดวิเคราะห์ ครูมีเครื่องมืออะไร ใครช่วยครูให้ทำได้ ถ้าเราต้องการให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย แต่วันนี้เด็กยังเข้าไม่ถึงอาหารที่มีคุณภาพ สวัสดิการพื้นฐาน เราจะส่งมอบสิ่งเหล่านี้ให้เด็กอย่างไร นี่คือ input และ process ภาครัฐและประชาชนต้องมาช่วยกัน”

เพราะอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องประกาศใช้ คำถามสำคัญของณิชา คือ จะทำอย่างไรให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด

คนที่มีบทบาทสำคัญ คือ ประชาชน

“คุณพ่อคุณแม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาลูกๆ ร่วมแสดงความเห็น ทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ เราไม่ควรปล่อยให้การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว”

นอกจากนี้ ณิชาชวนคิดต่อว่า นอกจากคุณภาพการศึกษาที่ต้องคำนึงในการร่างพ.ร.บ.ผู้ร่างยังต้องคำนึงถึงสิทธิของนักเรียนด้วย

เพราะสิทธิของนักเรียน เท่ากับ ความรู้สึกปลอดภัยที่ทำให้เด็กพร้อมเรียนรู้

“สิทธิของนักเรียนกับคุณภาพการศึกษาสัมพันธ์กัน เด็กจะเรียนรู้เมื่อเขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจ ข้อเรียกร้องของนักเรียนไม่ได้เป็นเพราะเขาอยากตัดผมหรือใส่เสื้อผ้าที่ชอบ แต่มันมีผลต่อจิตใจ โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับปัญหาและทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้”

ศึกษานิเทศก์: ถ้ายึดผู้เรียนเป็นหลัก อาจพบว่าบางหน่วยงานไม่จำเป็น

10 คือ จำนวนสำนักงานและหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบให้ในปีงบประมาณพ.ศ. 2565 

“สมการการคิดหน่วยงานทางการศึกษา ต้องคิดว่าการตั้งหน่วยงานจะมีผลต่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนอย่างไร”

หน่วยงานใหม่ คือ การสร้างภาระงานเพิ่มให้กับบุคลากรทางการศึกษาแล้วสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร

“บางครั้งมีนโยบายใหม่เกิดขึ้น สำนักงานหรือองค์กรภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเองที่มีมากมายช่วยเหลือกันมากแค่ไหน หรือส่งนโยบายตรงถึงผู้บริหารโรงเรียนเพื่อมากำกับครู”

เพราะณัฏฐเมธร์ ดุลคณิต ศึกษานิเทศก์ สพม.1 กทม.คิดว่า หากยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ บางหน่วยงานอาจไม่จำเป็น อีกทั้งเป็นการลดงบประมาณทรัพยากรบุคคลได้ด้วย

“ถ้าเรายึดผู้เรียนเป็นหลักว่า การจัดการศึกษาเกิดกับผู้เรียนอย่างไรบ้าง เราอาจพบว่าบางหน่วยงานอาจไม่จำเป็นแล้วในปัจจุบัน”

ถึงเนื้อหาพ.ร.บ.ในมาตรา 14 (11) จะกำหนดให้ลดภาระงานครู เพื่อให้ครูมีเวลาสอนอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาต่อมา คือ แล้วใครจะทำหน้าที่แทนครู 

หรือสุดท้ายจะเป็นการผลักภาระให้โรงเรียนเหมือนเดิม แล้วครูก็ต้องออกจากห้องเรียน เพราะไม่มีใครทำแทน

ดังนั้น “ใครทำหน้าที่แทนหน้าที่ครูนอกห้องเรียน” จึงต้องเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ 

“ถ้าผู้บริหารอยากให้ครูมาทำงานพัสดุ แต่ครูบอกว่ามีกฎครูห้ามออกจากห้องเรียน แต่ไม่มีคนทำงานพัสดุ โรงเรียนใหญ่เหมือนเดิมมีงบประมาณอื่นจ้าง แต่โรงเรียนเล็กจะใช้งบประมาณจากที่ไหน”

นอกจากนี้ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติมาตรา 25 (3) ยังระบุว่า สถานศึกษาจะมีอิสระในการบริหารการเงินและใช้จ่ายเงิน 

100 แสนล้าน คือ งบประมาณสุทธิที่รัฐบาลจัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการ 

62 ล้าน คือ งบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

และ มากกว่า 15 ล้าน คือ งบประมาณสำหรับการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์

ถึงจะมีอิสระในการบริหารงบประมาณ แต่งบกว่า 15 ล้านบาท คือ การพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนภายใต้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกเขตทั่วประเทศ

ณัฏฐเมธร์ ตั้งคำถามชวนคิดต่อว่า หากกระทรวงฯ ยังจัดสรรงบประมาณตามรายหัว งบประมาณในโรงเรียนขนาดเล็กจะเพียงพอที่จะจ้างบุคลากรทางการศึกษาเพื่อมาทำหน้าที่แทนครูได้หรือเปล่า? 

อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/062/T_0001.PDF
https://www.eef.or.th/news-eef-explore-children-falling-out-of-system-after-new-semester/

สาระสำคัญของพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ แบ่งออกเป็น 7 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. เป้าหมายการศึกษา คือ การสร้างคนดี มีคุณภาพและมีการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
2. สถานศึกษามีความอิสระในการบริหารการจัดการศึกษา งบประมาณ และบุคคล
3.พัฒนาระบบผลิตครูและครูในระบบให้สอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนตามช่วงวัย อีกทั้งระบบติดตามและประเมินผลที่ไม่ใช่การเพิ่มงานครู โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาผู้เรียน
4.ตั้งสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในโรงเรียน 
5.หน้าที่รัฐ คือ การยอมรับความแตกต่างและจัดทำ Big Data นักเรียน ครูและสถาบันการศึกษาเพื่อกำหนดนโยบายการศึกษา
6.จัดทำแผนการศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต
7.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติโดยทำงานบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกระทรวง

อ่านร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3oF5l1h
Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts