เปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนเล็ก ด้วยแนวคิด ‘ชุมชนสร้างโรงเรียน-โรงเรียนสร้างชุมชน’

เปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนเล็ก ด้วยแนวคิด ‘ชุมชนสร้างโรงเรียน-โรงเรียนสร้างชุมชน’

โจทย์หนึ่งที่สังคมไทยต้องเผชิญมาเป็นเวลาค่อนศตวรรษ นับตั้งแต่ระบบการศึกษาได้รับการจัดตั้งเป็นรูปเป็นร่างเป็นทั่วประเทศ คือโจทย์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ และโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่เราเรียกว่า ‘โรงเรียน Stand-Alone’ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘Protected School’—โรงเรียนกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นจำต้องได้รับการคุ้มครอง

จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ได้เดินทางจากพื้นถิ่นของตนเป็นระยะทางกว่าคนละหลายร้อยกิโลเมตร เข้ามาร่วมเสวนาและรับฟังปัญหาร่วมกัน ณ ‘เวทีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล อย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ภายใต้ความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สหภาพยุโรป (European Union: EU) มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สมาคมไทบ้าน เครือข่ายโรงเรียนปลายทางครูรักษ์ถิ่น ชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและห่างไกล 

ภายใต้หลักคิด ‘ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล ความเสมอภาคที่เป็นจริงได้’ ผู้เข้าร่วมการอภิปรายได้ยื่นข้อเสนอทางออกการแก้ปัญหาและแนวทางที่จะสามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย

นอกจาก ตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เข้ามาร่วมรับฟังและตอบรับข้อเสนอจากเครือข่ายไปทำงานต่อแล้ว ยังมี อรพรรณ  จันตาเรือง  ส.ส.เชียงใหม่ เขต 6 สังกัดพรรคก้าวไกล ที่เข้ามาร่วมอภิปรายปัญหา ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง  ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand)  และ วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ นักพูด นักเขียน และนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา

โรงเรียนเล็กคือ ‘เส้นเลือดเหนือหัวใจ’ ของระบบการศึกษา

โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมักเป็นที่พึ่งทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ยากจนและเปราะบางที่สุดในประเทศนั้น ครอบคลุมจำนวนผู้เรียนเฉียด 1 ล้านคน ฟังดูเหมือนเป็นจำนวนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับตัวเลขประชากร แต่หากเทียบกับสัดส่วนเชิงพื้นที่ โรงเรียนเหล่านี้จะคิดเป็น 50% ของจำนวนโรงเรียนทั้งประเทศ โรงเรียนเล็กแบบ Stand-Alone เช่นนี้ จึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดเหนือหัวใจของระบบการศึกษา  

ทว่า โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี เพราะต้องปิดตัวลงจากภาวะอัตราการเกิดของประเทศที่ลดต่ำ รวมถึงจำนวนผู้เรียนมากมายในโรงเรียนเหล่านี้ที่กำลังค่อยๆ หลุดออกไปจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องต่อสู้กับระบบเพียงลำพัง โดยปราศจากการสนับสนุนจากรัฐ

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เจาะลึกถึงความท้าทายของที่โรงเรียน Stand-Alone หรือ Protected School จำนวนกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศต้องพบเจอว่า ส่วนมากมักเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนผู้เรียนไม่มาก ตั้งอยู่บนเกาะ บนดอย บ้างในพื้นอุทยาน บ้างอยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งถูกตัดขาดจากเขตเมืองและพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงที่มีโรงเรียนทดแทนอย่างสิ้นเชิง 

การที่จะ ‘ยุบ’ หรือ ‘ควบรวม’ โรงเรียนที่อยู่ภายในรัศมี 6 กิโลเมตรของกันและกันตามมติคณะรัฐมนตรีที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโรงเรียนกลุ่มนี้มักเป็นความหวังเดียวของเด็กในพื้นที่นั้นๆ ที่จะมีการศึกษา

ด้วยเหตุนี้ ไกรยสจึงเป็นตัวแทนคณะทำงานของ กสศ. มาเสนอแนะนโยบายและแนวทางการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยแบ่งออก 4 ประเด็นหลัก 

1. ด้านการสร้างคน: โรงเรียนขนาดเล็กมักปัญหาการโยกย้ายของบุคลากร เราจึงควรมุ่งเน้นการเฟ้นหาครูจากในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่มีใจรักที่จะเป็น ‘ครูของชุมชน’ นั้นๆ อย่างแท้จริง สนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนครูและกลับไปบรรจุในพื้นที่ตามความฝัน ปัญหาการโยกย้ายก็จะเกิดขึ้นน้อยลง  

ปัจจุบัน กสศ. ได้ร่วมมือกับสถาบันผลิตและพัฒนาครู 19 แห่งทั่วประเทศ นำร่องโครงการที่มีชื่อว่า ‘ครูรักษ์ถิ่น’ โดยเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานเริ่มใช้วิธีติดตามผลด้วยบริการ After Sale Service กล่าวคือหลังจากที่ครูรักษ์ถิ่นบรรจุแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามไปสนับสนุนครูเหล่านี้ในชุมชนต่อเป็นเวลา 6 ปี  เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านบุคลากร

2. ด้านงบประมาณ: ปัจจุบันปริมาณงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้แต่ละโรงเรียนมักผูกติดสัมพันธ์อยู่กับ ‘จำนวนหัว’ ของผู้เรียน ทำให้งบประมาณที่สถานศึกษาแต่ละแห่งได้รับไม่สอดคล้องกับความต้องการ เนื่องจากโรงเรียนที่มีจำนวนผู้เรียนน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีความต้องการด้านงบประมาณน้อยเสมอไป

การปรับเปลี่ยนสูตรจัดสรรงบประมาณจึงเป็นขั้นตอนที่จำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะคำนวณตามจำนวนเด็กแล้ว สูตรเหล่านี้ยังควรมีปัจจัยเรื่องระยะทาง ความห่างไกล ความทุรกันดารเข้ามาในสมการด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ทรัพยากรที่จัดสรรไปก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้จริง 

3. ด้านนวัตกรรม: นวัตกรรมการสอนและจัดการห้องเรียนแบบคละชั้น (Multi-age Classroom) ถือเป็นนวัตกรรมที่จำเป็นอย่างมากสำหรับโรงเรียน Stand-Alone ที่มีจำนวนครูสอนได้ไม่ครบชั้น โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลในหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ นิยมใช้กันมาหลายสิบปีแล้ว  ในอนาคตอันใกล้นี้ คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ทั่วประเทศ จึงควรเร่งปรับเปลี่ยนเนื้อหา โดยเริ่มบรรจุศาสตร์และทักษะการสอน Multi-age Classroom ลงในหลักสูตร เพื่อเตรียมพร้อมให้ครูไทยมีชุดทักษะที่เหมาะกับการสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

4. ด้านการเชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชน:  เพราะทั้งชุมชนและโรงเรียนต่างมีความฝันร่วมกัน คืออยากให้ลูกหลานมีความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน เราจึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและตัดสินใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาภายในในโรงเรียนตั้งแต่วันนี้ โดยหัวใจสำคัญที่จะนำโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่ความยั่งยืนและเป็นของชุมชนได้อย่างแท้จริง คือสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างโรงเรียนและเครือข่ายภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน 

นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง: จิตศึกษา-PBL-PLC

จิตศึกษา คือกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้านความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางจิตวิญญาณ (SQ) ผ่านการจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘จริยธรรม’ อย่างชัดเจน ในวงสนทนาที่ครูไม่ได้มี ‘อำนาจเหนือ’ (Power Over) นักเรียน แต่ใช้ ‘อำนาจร่วม’ (Power Sharing) ร่วมกับนักเรียนในการแสดงความคิดเห็น กำหนดทิศทางบทสนทนา โดยไม่ตัดสินผิดถูกความคิดของกันและกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกใช้เครื่องมือการพัฒนาปัญญาภายในและบูรณาการ อย่างกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL) และ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)

รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) ได้นำเสนอข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับโรงเรียนเล็กที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 222 แห่งในปัจจุบันที่ได้นำเอานวัตกรรม ‘จิตศึกษา-PBL-PLC’ จากต้นแบบโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ มาประยุกต์ใช้แล้วสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกภายในเวลาไม่นาน 

หนึ่งในโรงเรียนนำร่องที่ได้มีการนำเอานวัตกรรมนี้ไปใช้คือ โรงเรียนวัดโคกทอง จังหวัดราชบุรี นำโดย ครูส้ม-รัตนา บัวแดง ที่รักษาการโรงเรียนมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม หลังจากโรงเรียนที่เธอรักไม่ได้รับการอนุมัติให้มีผู้อำนวยการคนใหม่

ครูส้มเล่าให้ฟังถึงความกังวลของเธอในช่วงเริ่มต้นว่า ในฐานะผู้นำ เธอกลัวว่าโรงเรียนจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง เพราะในตอนนี้โรงเรียนของเธอไม่มีผู้อำนวยการคอยบริหาร มีเพียงตัวเธอที่เป็นครูเท่านั้น

แต่กลายเป็นว่าด้วยอานิสงส์จากความมุ่งมั่นของผอ.คนเก่าที่ตั้งใจจะนำเอานวัตกรรมจิตศึกษา-PBL-PLC มาทดลองใช้จริงใหเได้ก่อนที่จะเกษียณออกไป ทำให้นอกจากโรงเรียนวัดโคกทองจะไม่เสียความไว้วางใจของผู้ปกครองแล้ว โรงเรียนยังมีนักเรียนเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนและปลูกฝังนิสัยการทำสมาธินั้น บ่งบอกชัดเจนผ่านพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไป กล้าคิด กล้าพูด กล้าลงมือทำ และมีสมาธิมากขึ้นจนผู้ปกครองสังเกตได้ ทำให้มีการแบ่งปันข้อมูลต่อกันแบบปากต่อปาก

เปิดเวทีเสวนา: ‘เปลี่ยนสูตรจัดสรรงบ-สร้างกลไกเสริมภูมิคุ้มกัน’

อรพรรณ  จันตาเรือง  ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 6 สังกัดพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในตัวแทนจากฟากการเมืองท้องถิ่น ที่เข้ามาร่วมบอกเล่าเกี่ยวกับปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ตนเองได้พบเจอจากการพูดคุยกับตัวแทนครู โดยเน้นย้ำในเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่

เช่นเดียวกับที่ ไกรยส ภัทราวาส จาก กศส. ได้เกริ่นถึงไป งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาให้โรงเรียนมักขึ้นอยู่กับจำนวนหัวของนักเรียนในโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถขยับขยายหรือพัฒนาปรับปรุงได้ ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทั้งในด้านการเงินและด้านบุคลากร หากอ้างอิงตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาฯ หากโรงเรียนใดมีนักเรียนไม่เกิน 20  คนเท่า จะสามารถมีคุณครูได้เพียงแต่คนเดียวเท่านั้น  ทำให้การจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มประสิทธิภาพเป็นไปได้ยากมาก 

ด้วยเหตุนี้ การการปลดล็อคอำนาจงบประมาณที่จะเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็ก จึงถือเป็นอีกประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบผลักดันแก้ไข โดนอรพรรณระบุว่าล่าสุดได้มีการประชุมร่วมกับกรรมมาธิการไปบ้างแล้ว 

นอกจากนี้ อีกประเด็นพูดคุยหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแม่แบบสำคัญ โดยตัวแทนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จทั่วปะเทศ คือเรื่องของ ‘กลไก’ บางอย่างที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยัน โดยทั้งหมดยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าชุมชนโดยรอบโรงเรียนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในสมการนี้ เช่น

โรงเรียนบ้านหนองบัวคู จังหวัดมหาสารคาม กับกลไกความสัมพันธ์ ‘บวร’ หรือ ‘บ้าน-วัด-โรงเรียน’ ที่ใช้ประโยชน์จากลักษณะของวัดและศาสนบุคคลอย่างพระภิกษุ ผู้มักทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมระหว่างชุมชนกับการศึกษามาตั้งแต่อดีต

โรงเรียนบ้านน้ำมวบ จังหวัดน่าน กับกลไกการรวมตัวกันเป็น ‘สมาคมโรงเรียน’ โดยเริ่มจากการเดินทาไปศึกษาดูงานจากโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงที่ประสบความสำเร็จ แล้วค่อยๆ เรียนรู้ Know-How เพื่อนำมาปรับใช้กับการสร้างนวัตกรรม สร้างคนที่เหมาะกับโรงเรียนในเครือข่าย

สภาการศึกษากาฬสินธุ์ (KDEC) กับกลไก ‘อำนาจตรวจสอบ’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขับเคลื่อนการศึกษาของคนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์จากภายนอกระบบอย่างเข้มแข็ง ทำให้มีอำนาจต่อรองที่จะขอคัดกรองผู้อำนวยการที่เข้ามาทำงานในโรงเรียนในเครือข่าย ตลอดจนตรวจสอบวิธีการจัดการเรียนการสอนในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ผู้บริหาร คณะทำงาน และครูผู้สอนที่วนเข้ามามองโรงเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเพียง ‘ทางผ่าน’ 

ฯลฯ

รมต.กระทรวงศึกษาฯ ให้คำมั่น ‘ไม่ยุบรวมโรงเรียนเล็ก’

เรียนดีมีความสุข’ และ ‘Anywhere, Anytime’—การเรียนที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา คือวิสัยทัศน์ของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ในการก้าวเข้ามานั่งทำงานบนเก้าอี้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เขาตั้งใจว่าจะทำงานโดยระลึกอยู่เสมอว่าจะไม่ทำตัวเป็น ‘น้ำเต็มแก้ว’ และนั่นคือสาเหตุหลักที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางมาร่วมงานเวทีนี้ เพื่อที่จะมารับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายว่า ควรจะเริ่มปรับปรุงจากจุดไหน มีทรัพยากรอะไรที่กระทรวงศึกษาธิการจะช่วยโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ได้

แม้จะมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี แต่ผมไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลง เพราะบทบาทที่สำคัญที่สุดในการการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ คือบทบาทของพวกท่าน” พลตำรวจเอกเพิ่มพูนกล่าวกับคณะครูและผู้อำนวยการที่นั่งอยู่ในเวทีการประชุม เพื่อเน้นย้ำความเชื่อของตนที่ว่า ครูผู้สอนคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

หลังจากรับฟังการเสวนาเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนจบ พลตำรวจเอกเพิ่มพูนได้กล่าวสรุปประเด็นสำคัญเพื่อสะท้อนความเข้าใจของเขา และความตั้งใจที่จะนำประเด็นเหล่านี้ไปพัฒนาแผนงานให้สอดรับกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ พร้อมให้คำมั่นว่าจะไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีการควบรวมโรงเรียนเล็กโดยไม่คำนึงถึงบริบทแวดล้อม ด้วยเข้าใจดีว่าจำเป็นต้องธำรงรักษาโรงเรียนที่เปราะบางเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งของเด็กๆ ในชุมชนห่างไกล ไม่ว่าจะบนบก บนยอดดอยสูง ตามเกาะแก่ง หรือในถิ่นทุรกันดารก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงอย่างแท้จริงได้ในสักวันหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เขาได้เน้นย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถดำเนินงานเพียงลำพังได้ และต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงชุมชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการสถานศึกษาในท้องถิ่นของตนเอง 

Writer
Avatar photo
ศิรอักษร จอมใบหยก

Full-time reader, part-time writing precariat

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts